• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ถีบฉันหน่อยซิ

“อะไรเอ่ย..... นั่งรถก็เร็วเกินไป  ถ้าเดินก็ช้าไป” ?

…หลายท่านคงหาคำเฉลยไม่ได้ใช่ไหมเอ่ย  คำตอบคือ “จักรยานไงครับ”

สมัยก่อนคนไทยรุ่นเก่าๆหรือพี่น้องสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเรียกขานพาหนะชนิดนี้ว่า “รถถีบ”  ถือเป็นยานพาหนะที่พาไปได้ทุกที่  ไม่ว่าสภาพถนนหนทางจะเป็นอย่างไร

          จักรยานถือกำเนิดเมื่อราว 120 ปีก่อนในยุโรป  ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกับตราบเท่าทุกวันนี้ว่าอิตาลี, ฝรั่งเศส หรือเยอรมันกันแน่ ที่เป็นต้นตำรับ  มีตำนานบันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้มากมาย  เริ่มต้นสมัยแรกๆ   จักรยานจะมีล้อหน้าล้อหลังใหญ่ไม่เท่ากัน  แกนถีบจะอยู่ที่ล้อหน้าและกินแรงมาก  แถมมีราคาค่อนข้างสูง  จึงมีใช้เฉพาะในกลุ่มคนมีฐานะ  แต่ต่อมาก็พัฒนาแพร่ขยายจนได้รูปลักษณ์แบบที่เห็นทุกวันนี้  และกลายเป็นพาหนะสามัญที่คนทุกระดับสามารถมีไว้ครอบครองได้

          ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมานี้  คนไทยหันมาใส่ใจและให้ความสำคัญกับการปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพกันอย่างแพร่หลาย (มีตัวเลขประมาณการคร่าวๆว่าในขณะนี้มีอยู่ประมาณ 5 แสนคน) และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลายคนเชื่อว่าการปั่นจักรยาน Bike for Dad และ Bike for Mom ที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร  ทรงเป็นประธานที่ปรึกษาใหญ่ริเริ่มขึ้นในปี 2558 ที่ผ่านมา  เป็นตัวช่วยจุดกระแสที่สำคัญอีกแรงหนึ่ง  ทำให้กระแสการปั่นจักรยานพัฒนาและเติบโตอย่างรวดเร็ว  ทำให้ร้านขายจักรยานผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดในทั่วประเทศแทบทุกจังหวัด

          “สนามเขียว” ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณขอบรอบนอกของสนามบินสุวรรณภูมิ  กลายเป็นสถานที่ยอดนิยมที่คอปั่นจักรยานทั้งหลาย (โดยเฉพาะแนว Endurance) ต้องไปลิ้มลองสัมผัสบรรยากาศกัน  ระยะทาง 26 กม. อาจฟังดูว่ายาวไกลสำหรับมือใหม่  แต่สำหรับคนที่ปั่นจักรยานเป็นประจำ  ถือเป็นระยะทางกำลังดี  สำหรับการทดสอบสมรรถภาพของรถ และกำลังวังชาของผู้ขับขี่...

          ...คำถามที่หลายคนยังคาใจคือ “ทำไมต้องเป็นจักรยาน” ในเมื่อเรามีรูปแบบการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพชนิดอื่นๆอีกมากมายให้เลือก  ซึ่งใครชอบแบบไหนขึ้นกับจริต, อายุ, สรีระร่างกาย และสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวย  โดยสรุปแล้วการปั่นจักรยานมีข้อดีตรงที่เสริมสร้างกล้ามเนื้อหลายส่วน (ขา, หลัง, แขน, หน้าท้อง) ลดแรงกระแทกและสึกหรอต่อข้อเข่า (เมื่อเทียบกับการวิ่ง)  ข้อต่อมีการเคลื่อนไหวหลายส่วน  ได้เดินทางท่องเที่ยวไปในตัว  ได้ความสุขจากการชื่นชมธรรมชาติและภูมิทัศน์สองฟากข้างทาง (การปั่นแบบ Touring) ที่สำคัญที่สุด คือ เป็นกีฬาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

          จากการศึกษาพบว่า  การปั่นจักรยานด้วยความเร็วปานกลางในเวลา 1 ชั่วโมง เผาผลาญพลังงานได้ 400 – 600  แคลลอรี่

          เมืองใหญ่ๆทั่วโลกหลายเมือง เช่น โคเปนเฮเกน (เดนมาร์ค), อัมสเตอร์ดัม (เนเธอร์แลนด์), สตราสบูร์ก (ฝรั่งเศส) หรือ โบโกต้า (โคลอมเบีย) กลายเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะเมืองน่าขี่จักรยาน  เมืองเหล่านี้จะมี Bike land  มีที่จอดรถและสิ่งอำนวยความสะดวกกับผู้ขี่จักรยานอย่างดี  บางเมืองประชากร 30-40% ใช้จักรยานเป็นพาหนะหลักในการเดินทางไปทำงาน  มีการจำกัดความเร็วของรถยนต์เพื่อเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน

          ในประเทศเนเธอร์แลนด์  ซึ่งมีประชากร 5.7 ล้านคน  แต่มีจำนวนรถจักรยานถึง 12 ล้านคัน  ถือเป็นประเทศที่มีจำนวนจักรยานต่อประชากรสูงที่สุดในโลก  ไต้หวันซึ่งเป็นประเทศในเอเซียที่เป็นเกาะมีทะเลล้อมรอบประกาศว่าจะทำให้ประเทศเป็น Island of Bicycle รัฐบาลไต้หวันส่งเสริมการปั่นจักรยานอย่างมุ่งมั่น จริงจัง มีการสร้างเลนจักรยานทั่วประเทศนับพันกิโลเมตร  และกำหนดให้วันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันจักรยานแห่งชาติ” มีการจัดแข่งขัน Tour de Taiwan มานานกว่า 10 ปีแล้ว  ซึ่งถือเป็นรายการปั่นจักรยานระดับโลกอีกรายการหนึ่ง...

          ...สิงคโปร์ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนเรา  เริ่มสร้างที่จอดจักรยานหลายพันคันตามสถานีรถไฟฟ้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้จักรยาน  ภายใต้แผนจักรยานแห่งชาติ (National Cycling Plan) สิงคโปร์ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มโครงข่ายทางจักรยานให้ได้มากกว่า 700 กิโลเมตรภายใน 2030

          บริเวณเกาะ Sentosa เกาะท่องเที่ยวที่คนไทยคุ้นเคยดี  มีจักรยานแบบหยอดเหรียญให้เช่าปั่นรอบเกาะและชมชายหาดได้  แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆในสิงคโปร์ก็เช่นเดียวกัน

          ....ผู้สูงอายุหลายท่านที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, โรคอ้วน เมื่อหันมาปั่นจักรยานอย่างสม่ำเสมอ  อาการต่างๆก็มักจะดีขึ้น  เยาวชนที่เคยเป็นโรคติดจอ อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน  เมื่อหันมาปั่นจักรยานก็ทำให้สุขภาพร่างกายดีขึ้น  จิตใจแจ่มใส  การเรียนและการทำงานก็ดีขึ้นอย่างชัดเจน

          ผมมองว่า คนต่างจังหวัดมีความได้เปรียบคนในกรุงเทพในเรื่องนี้  เพราะสภาพถนนหนทางที่ยังมีความเป็นธรรมชาติอยู่  รถยนต์ไม่แยะมากนัก  อุปสรรคสำคัญของการปั่นจักรยานคือความกลัวอุบัติเหตุรถล้ม, รถชน เนื่องจากเมืองไทย ผู้ขับขี่ยานพาหนะทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์ ยังไม่เห็นคุณค่าและตระหนักถึงความงดงามและมิติทางสังคมด้านบวกของผู้ขี่จักรยานเหมือนในยุโรป, ไต้หวัน, สิงคโปร์  อย่างไรก็ดี หากเราปั่นจักรยานด้วยความระมัดระวัง  โดยเฉพาะการปั่นเป็นกลุ่มมีการเตรียมตัวที่ดี และในสภาพถนนที่เอื้ออำนวย  โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุก็จะลดน้อยลงไปแยะ

          สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับชมรมจักรยานแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันพัฒนาโครงการการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะการเดิน และการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน (หมายเลขโทรศัพท์ 02-6184434) โดยมีการออกวารสารที่สามารถให้คำแนะนำและข้อมูลใหม่ๆรวมทั้งปฏิทินกิจกรรมประจำเดือน ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่ Email : [email protected]

          …จริงๆแล้ว  เด็กกับจักรยานก็เป็นของคู่กัน  การฝึกเด็กให้ขี่จักรยานได้เป็นทักษะสำคัญอย่างหนึ่งที่ผู้ปกครองควรใส่ใจ  ผู้ใหญ่บางคนขี่จักรยานไม่ได้ เพราะสมัยเด็กผู้ปกครองกลัวล้ม กลัวว่าจะเกิดอุบัติเหตุ  เด็กแต่ละกลุ่มแต่ละวัย จะมีจักรยานที่ถูกออกแบบ  ถูกพัฒนาขึ้นมาให้เหมาะสมกับสรีระและส่วนสูง  การพาเด็กไปปั่นตามเส้นทางชนบท  เลียบชายทุ่ง  ชมนกชมไม้ เหมือนการได้ออกไปผจญภัยเล็กๆ ทำให้เด็กไม่เบื่อและได้เรียนรู้สิ่งแวดล้อมที่แตกต่างไปจากในละแวกบ้านแบบเดิมๆ

          ...เป็นที่น่ายินดีว่า รัฐบาลไทยเริ่มหันมาใส่ใจและตอบสนองต่อกระแสการปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพมากขึ้น  ล่าสุดพลอากาศเอก ประจิน  จั่นตอง  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  ได้ขับเคลื่อนผ่านกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ให้ตั้งงบประมาณ 1,500 ล้านบาท  สร้างทางจักรยานที่ลาดด้วยแอสพัสต์ผสมยางพารา  ระยะทาง 184 กิโลเมตร จากหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปทุมธานี ไปอยุธยา, อ่างทอง, สิงห์บุรี และไปจบที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท  ซึ่งถ้าทำสำเร็จจะเป็นเลนจักรยานที่ยาวที่สุดในเอเซีย  ในส่วนต่างจังหวัด  กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  ได้สนับสนุนงบประมาณ 1,200 กว่าล้านเพื่อพัฒนาเส้นทางจักรยานทั่วประเทศ

          จังหวัดใหญ่ๆอย่างนครราชสีมา, เชียงใหม่, อุดรธานี ล้วนแล้วมีแผนพัฒนาเส้นทางในพื้นที่รองรับการปั่นจักรยานทั้งสิ้น  จังหวัดนครราชสีมามีแผนจะสร้างเส้นทางจักรยานระหว่างอำเภอวังน้ำเขียวผ่านเขาใหญ่ไปปากช่อง  จังหวัดเชียงใหม่มีแผนปรับปรุงเส้นทางในเขตเมืองเก่าและถนนนิมมานเหมินท์ เป็นเส้นทางจักรยาน  อีกเส้นเลียบคลองชลประทาน  เทศบาลอีกหลายจังหวัดเริ่มจับมือกับเอกชนเปิดโครงการรถจักรยานสาธารณะ ยืม คืน เพิ่มทางเลือกในการเดินทาง...

          ...คงไม่เกินเลยความจริงที่จะกล่าวว่า “จักรยาน” ไม่ได้มีมุมมองเพียงแค่มิติของการเดินทางอีกแล้ว  แต่กลายเป็นวิถีแห่งสุขภาพ  การเข้าสังคม (ได้เพื่อนใหม่ๆ)  ความทันสมัยและรสนิยมส่วนบุคคลที่เฉพาะตัวไปแล้วในขณะนี้

....ถีบฉันหน่อยซิ  แล้วคุณจะไม่เสียใจผิดหวังเลย...

ข้อมูลสื่อ

444-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 444
เมษายน 2559
นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ