• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรงพยาบาล “สัปปายะ”

โรงพยาบาล “สัปปายะ”
 
“คับแคบ  แออัด  ร้อนอบอ้าว  เหม็นกลิ่นยา  ไม่มีรถโดยสารผ่าน  ไปลำบากตอนกลางคืน  ไม่มีที่จอดรถ  หาอาหารการกินลำบาก เจ้าหน้าที่พูดจาไม่เพราะ นอนไม่ค่อยหลับเพราะหนวกหู เตียงเต็มต้องนอนระเบียง ห้องน้ำไม่สะอาด ฯลฯ”  โรงพยาบาลใกล้บ้านท่านเป็นอย่างนี้หรือเปล่าครับ?
 
คำว่า “สัปปายะ” เป็นภาษาบาลี  เป็นคำที่ปรากฏอยู่ในพระวินัยปิฎก และถูกขยายความในคัมภีร์วิสุทธิมรรคไว้อย่างกระจ่างแจ้งว่า ภิกษุสงฆ์พึงอยู่ในสถานที่อันเป็นสัปปายะในบริบทปัจจัยต่างๆ (โดยเฉพาะสัปปายะสี่ประการสำหรับวัด)  ซึ่งจะเอื้อต่อการดำรงตน และปฏิบัติภาวนา
 
คำว่าสัปปายะนี้  เป็นรากศัพท์ของคำว่า “สบาย” ในภาษาไทย  และมีความหมายเฉกเช่นเดียวกันว่าเป็นเรื่องอันสุขกายสุขใจ
 
ทุกวันนี้เราไปศาลเพราะมีคดีเป็นความฟ้องร้องผู้อื่น หรือถูกฟ้อง  เราไปโรงพักเพราะได้รับความเสียหายจากการกระทำของผู้อื่น  และเราไปโรงพยาบาลเพราะเจ็บไข้ได้ป่วย  สถานที่สามแห่งนี้  หลายคนบอกว่าไม่จำเป็นไม่อยากเข้าไปใช้บริการ  เพราะเป็นสถานที่อสัปปายะนั่นเอง
 
ปัญหาความไม่สะดวกสบายต่างๆในการไปใช้บริการที่โรงพยาบาล  โดยเฉพาะโรงพยาบาลของรัฐนั้น  หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ตลอดจนบุคลากรระดับผู้บริหารรู้ซึ้งเป็นอย่างดี  หลายท่านใส่ใจและพยายามที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว  แต่ด้วยข้อจำกัดของระบบราชการ  ระเบียบกฏเกณฑ์ต่างๆ  ความคลาดแคลนบุคลากร  การมีงบประมาณจำกัดไม่เพียงพอ  ไปจนถึงความใส่ใจให้ความสำคัญของท้องถิ่นและชุมชน  มักทำให้ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่ตึงมือ  ยากที่จะแก้ไขเยียวยาให้ได้ดังใจ
 
หากลองพิจารณานำหลักการสัปปายะ ๗ มาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการโรงพยาบาล  ก็จะทำให้เรามีมุมมองใหม่ๆต่อการบริการประชาชน และทำให้คุณภาพบริการดีขึ้น  หลักการทั้ง ๗ ประกอบด้วย
 
๑. อาวาสสัปปายะ (สบายการอยู่)
โรงพยาบาลควรเป็นสถานที่อันสงบ  ไม่พลุกพลานจอเจ หรือ แออัดจนเกินไป  ไม่มีเสียงดังหนวกหู  ผู้ป่วยสามารถพักผ่อนนอนหลับได้  มีบรรยากาศอันรื่นรมย์  มีต้นไม้ ดอกไม้  โรงพยาบาลบางแห่งมีมุมสำหรับปฏิบัติธรรม หรือละหมาดให้ผู้ป่วยและญาติ
 
๒. โคจรสัปปายะ (สบายการเดินทางไป)
โรงพยาบาล  ควรอยู่ในทำเลที่การเดินทางสะดวกต่อผู้ป่วย  มีระยะทางไม่ไกลเกินไป  หาได้ง่าย  รถโดยสารสะดวก  เข้าถึงได้ไม่ลำบาก  ไม่อยู่ในซอกซอยลึกเกินไป
 
๓. ภัสสสัปปายะ (สบายการเจรจา  พูดคุย)
โรงพยาบาลควรเป็นสถานที่เอื้อต่อการสื่อสาร  บุคคลากรให้เกียรติผู้ป่วยและญาติ  มีทักษะในการสื่อสาร  มีปิยวาจา  เป็นแหล่งพูดคุยที่เหมาะสมในหมู่คนดี
 
๔. ปุคคลสัปปายะ (สบายคบคน)
โรงพยาบาลบางแห่งจะมีชมรมผู้สูงอายุ  ชมรมมิตรภาพบำบัด  จิตอาสาในรูปแบบต่างๆที่พากันไปในทางที่ดี  มีผู้รู้เป็นที่ปรึกษา  มีมิตรแท้ที่จริงใจ (เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ป่วยเป็นโรคเดียวกัน เห็นหัวอกความทุกข์)  โรงพยาบาลหลายแห่งมีกรรมการที่ปรึกษา  กรรมการมูลนิธิ คอยช่วยสนับสนุน
 
๕. โภชนสัปปายะ (สบายการกิน)  โรงพยาบาลควรมีอาหารที่เหมาะสมต่อความเจ็บป่วย ตามโรค เพศ วัย และพยาธิสภาพของผู้ป่วยแต่ละราย  โรงพยาบาลหลายแห่งไม่มีโรงครัว ผู้ป่วยและญาติต้องหากินเอง  โรงพยาบาลหลายแห่งมีโครงการอาหารปลอดภัยใช้ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ ปลอดสารพิษสำหรับผู้ป่วย
 
๖. อุตุสัปปายะ (สบายอากาศ)
โรงพยาบาลต้องไม่ร้อนอบอ้าว  มีระบบระบายอากาศที่ดี ไม่หนาวเกินไป น้ำไม่ท่วม ไม่มีกลิ่นยาหรือยาฆ่าเชื้อจนฉุน
 
๗. อิริยาปถสัปปายะ (สบายท่าทาง)
ผู้ป่วยควรได้อยู่ในอิริยาบถที่เหมาะสมกับความเจ็บป่วยและเหตุการณ์  เคลื่อนไหวได้สะดวก  ไม่ใช่นอนเตียงเบียดติดกันจนเกินไป หรือ ๒ เตียง ๓ คน  หรือต้องนอนบริเวณระเบียง  โรงพยาบาลบางแห่งเด็กและคนแก่นอนอยู่ติดกัน พักผ่อนไม่ได้
 
บ่อยครั้งที่เราพบว่า  โรงพยาบาลยิ่งขยายใหญ่ขึ้น (มีเตียงมากขึ้น  ตึกอาคารเพิ่มขึ้น  บุคลากรมากขึ้น) แต่กลับกลายเป็นว่า  โรงพยาบาลกลับสัปปายะน้อยลง  บางครั้งกลับกลายเป็นว่า  โรงพยาบาลชุมชนเล็กๆในต่างจังหวัดบางแห่งที่มีขนาดกะทัดรัด พอดี กลับมีสัปปายะมากกว่า (ยกเว้นผู้ป่วยที่เจ็บป่วยโดยโรคร้ายแรง หรืออาการหนักซึ่งต้องการแพทย์ หรือเครื่องไม้เครื่องมือพิเศษเฉพาะด้าน  ที่จำเป็นต้องนอนในโรงพยาบาลในเมืองใหญ่ ก็จำเป็นต้องยอมรับสภาพ  หลายท่านก็เลยไปใช้บริการจากโรงพยาบาลเอกชน  ซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่สัปปายะมากกว่า)
 
โรงพยาบาลจึงต้องการการออกแบบที่ดี  ต้องการที่ดินที่กว้างพอสมควร  ต้องการพื้นที่สีเขียว มีต้นไม้ ดอกไม้ร่มเงา และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆตามสมควรแก่ผู้ป่วยและญาติ  แต่ทุกวันนี้โรงพยาบาลต่างๆมักอสัปปายะมากขึ้นๆ  ซึ่งต้องการ “มุมมอง (Mindset) และการจัดการใหม่” โดยการทำให้โรงพยาบาลเป็นของชุมชน  ไม่ใช่เป็นของรัฐบาล หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง  ชุมชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของหรือร่วมเป็นหุ้นส่วนของโรงพยาบาลด้วยในเรื่องต่างๆ
 
โรงพยาบาลที่เป็นตัวอย่างที่ดีของเรื่องนี้มีอยู่หลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลด่านซ้าย จังหวัดเลย  โรงพยาบาลตาคลี จังหวัด นครสวรรค์ และอีกหลายแห่ง
 
เรามาช่วยกัน  ดูแลโรงพยาบาลในท้องถิ่นในชุมชนของเรา ให้เป็นสถานที่สัปปายะกันเถิดครับ...ช่วยกันคนละไม้คนละมือ  ตามกำลังความสามา

ข้อมูลสื่อ

422-1330
นิตยสารหมอชาวบ้าน 422
มิถุนายน 2557
นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ